วันนี้ 20 ก.ย. 66 ที่รัฐสภา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 กล่าวถึงกรณีผู้ใช้ เฟซบุ๊ก ปีใหม่ ปีใหม่” เขียนจดหมายร้องเรียนกรณีนางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ที่ปรึกษาฯ บุกไปคุกคามถึงบ้านและที่ทำงานที่มีเหตุมาจากการโพสต์ประกาศยุติสงครามเหลืองแดง ว่า เบื้องตอนเช้านี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน ท่านคงติดให้ข่าว ให้สัมภาษณ์อีกหลายสำนัก ตนขอยืนยันอย่างนี้ก่อนว่า จากการติดตามในหน้าข่าวและดูข้อเท็จจริงเบื้องต้น พบว่า เป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสมจริงๆ แต่เนื่องจากนางอมรัตน์ ไม่ได้เป็น สส. กระบวนการร้องเรียนวินัย นางอมรัตน์ จึงไม่มีในส่วนของสภา แต่ในส่วนของพรรคการเมือง และในส่วนของการพิจารณา ทีมทำงานของรองประธานสภาฯ เราจะแยกกัน ตนเชื่อว่าพรรคก้าวไกล จะมีการพิจารณาในประเด็นนี้แน่ ในเรื่องของจริยธรรม
ส่วนรองประธานสภาฯ สิ่งที่เราต้องมีก่อนคือต้องพูดคุยกับนางอมรัตน์ ซึ่งการคุยทางโทรศัพท์ไม่พอ ต้องคุยซึ่งหน้า ประชุมกันให้เรียบร้อย ว่าข้อเท็จจริงในเรื่องนี้เป็นอย่างไร เรายืนยันว่า เป็นการแสดงออกที่ไม่เหมาะสม แต่เราจำเป็นต้องทราบข้อเท็จจริงอื่นๆ จากทางผู้ร้องเรียนและจากผู้ถูกกล่าวหาด้วย หากมีการทำความผิดจริง ตนพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตำแหน่งนางอมรัตน์ ออกจากที่ปรึกษารองประธานสภาฯ
โดยในช่วงเช้าวันนี้มีรายงานข่าวแจ้งว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊ก “ปีใหม่ ปีใหม่” โพสต์จดหมายเปิดผนึกถึง นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล, นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1, นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เรื่อง ขอความเป็นธรรม และ ขอความคุ้มครองจากการถูกข้าราชการการเมือง (ที่ปรึกษารองประธานสภาคนที่ 1) เผยแพร่ข้อมูลส่วนตัว ข่มขู่คุกคาม ไล่ล่าแม่มด และใช้อำนาจหน้าที่บีบบังคับให้เอกชนสนองความต้องการให้ตน
เนื้อหาของจดหมายเปิดผนึก ระบุว่า เนื่องด้วยเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 เวลาเช้า ดิฉันได้ทราบข่าวจากเพื่อนเฟซบุ๊กว่า นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ที่ปรึกษารองประธานสภาคนที่1 (นายปดิภัทธ์ สันติภาดา) ได้โพสต์ และ ทวีตข้อมูลส่วนตัวของดิฉัน อาทิ ชื่อเล่น อายุ วันเดือนปีเกิด บ้านเลขที่ ที่อยู่ หมู่บ้าน รูปพรรณสัณฐานที่พักอาศัยของดิฉัน เช่นสีประตูรั้วบ้าน สีรถยนต์ที่ดิฉันใช้ รวมถึงระบุชื่อมารดาของดิฉัน จำนวนบุตรของดิฉัน และยังได้ระบุสถานที่ทำงานของดิฉันพร้อมเบอร์โทรศัพท์ที่ทำงานโดยละเอียด อีกทั้งยังแจ้งว่าหากใครต้องการทราบชื่อ นามสกุลจริง และ รูปของดิฉันให้ติดต่อสอบถามได้จากนางอมรัตน์นางยินดีมอบให้
ซึ่งภายหลังจากนางอมรัตน์ได้โพสต์และทวีตไปไม่นาน ได้มีสื่อ “ข่าวสด” นำข้อมูลของดิฉันไปเผยแพร่ต่อ และ Top News รายงานข่าว จากนั้นได้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์จำนวนมาก แสดงความคิดเห็นเชิงข่มขู่คุกคามด้วยถ้อยคำหยาบคาย สร้างความเกลียดชังต่อดิฉัน บางส่วนชักชวนกันมาทำร้ายดิฉัน บางส่วนนำบัตรประชาชนของดิฉันแปะในคอมเมนต์ บางส่วนเอ่ยชื่อจริงของดิฉัน ทั้งในโพสต์ และ ทวิตเตอร์ของนางอมรัตน์ ลุกลามมาถึงในเฟซบุ๊กของดิฉัน
ในเวลาบ่ายโมง ดิฉันได้รับทราบจากผู้จัดการบริษัทที่ดิฉันทำงานอยู่ว่า นางอมรัตน์ ได้โทรศัพท์เข้ามาหาเธอ และส่งข้อมูลมาให้เธอทางไลน์ กล่าวหาว่าดิฉันโพสต์หมิ่นนาง อ้างว่าคนอ่านรู้ว่าดิฉันหมายถึงนาง โดยนางอมรัตน์ได้ขอให้ผู้จัดการฝ่ายบุคคลตักเตือนหรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อดิฉันต่อไป
ผู้จัดการฝ่ายบุคคลและผู้บริหารท่านหนึ่งของบริษัท ได้สอบถามดิฉัน ซึ่งดิฉันยอมรับว่าโพสต์วิจารณ์การเมือง, นักการเมือง และ พรรคก้าวไกลจริง โดยใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ระบุชื่อ สกุลจริงของใคร ไม่มีคำไหนสร้างความเสียหาย และ ไม่ได้คิดร้ายหมายขวัญใครถึงชีวิต ใช้สิทธิเสรีภาพตามกรอบกฎหมายทุกประการ ซึ่งหากนางอมรัตน์รู้สึกว่าดิฉันทำความเสียหายให้ก็สามารถดำเนินคดีตามกฎหมายได้
ทั้งนี้ดิฉันไม่ได้กระทำในนามบริษัท และ ไม่ได้โพสต์ในเวลางาน เวลาที่โพสต์นอกเวลางาน เช่น ก่อนเริ่มงาน พักเที่ยง หลังเลิกงาน วันหยุด หรือ วันที่ดิฉันใช้สิทธิลางานทั้งสิ้น ซึ่งดิฉันได้แจ้งต่อผู้บริหารว่า นางอมรัตน์เริ่มโพสต์เผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวดิฉันก่อนหน้านี้แล้ว 1 ครั้งเมื่อกลางเดือนสิงหาคม โดยดิฉันไม่ได้ตอบโต้อะไรนางรุนแรงเกินไปกว่าการโพสต์อธิบายข้อเท็จจริงหักล้างข้อความเท็จที่นางกล่าวหาดิฉัน
เหตุเกิดหลังดิฉันประกาศยุติสงครามเหลืองแดง ขอเชิญชวนเหลืองแดงสมานฉันท์เดินหน้าประเทศด้วยกัน และ ขอโทษคนเสื้อเหลืองหากเคยใช้วาจาไม่สุภาพต่อกันในอดีต ซึ่งจากการประกาศนั้น หลายสื่อได้นำข้อความของดิฉันไปลงข่าว ทำให้ NGO แกนนำม็อบคนหนึ่งโพสต์และทวีตถามว่าดิฉันเป็นใคร นางอมรัตน์จึงได้โพสต์เผยแพร่ข้อมูลด้านการศึกษาของดิฉันเพื่อตอบคำถามนั้น แต่เป็นข้อความเท็จเกี่ยวกับตัวดิฉัน กล่าวหาว่าเมื่อก่อนดิฉันรับข้อมูลจากอดีตนักการเมืองพรรคหนึ่งมาโพสต์ ดิฉันได้โพสต์อธิบายข้อเท็จจริง พร้อมแนบหลักฐานเป็น คำนิยม ที่นักการเมืองท่านนั้นให้เกียรติเขียนในหนังสือของดิฉัน โดยเนื้อความระบุว่า นักการเมืองท่านนั้นได้รับประโยชน์จากข้อมูลที่ดิฉันค้นคว้านำมาเผยแพร่ ไม่ใช่ดิฉันไปรับข้อมูลจากเขามาโพสต์แต่อย่างใด
เวลาบ่ายสามโมงวันเดียวกันนี้ ผู้บริหารได้แจ้งดิฉันว่า นางอมรัตน์ได้เข้ามาที่ทำงานของดิฉัน ได้ขอพบผู้บริหาร และ ผู้จัดการฝ่ายบุคคล โดยผู้บริหารท่านหนึ่งไม่ต้องการให้เรื่องลุกลามฟ้องร้องกัน จึงได้แจ้งนางอมรัตน์ไปว่าได้ตักเตือนดิฉันแล้ว และ จะออกหนังสือตักเตือนให้ดิฉันเซ็นรับทราบเพื่อยุติการโพสต์ถึงนางอมรัตน์ต่อไป
ซึ่งดิฉันได้บอกผู้บริหารไปว่า ดิฉันไม่ได้โพสต์ถึงนางอมรัตน์ ไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย หรือ กฎระเบียบบริษัทใด ๆ แต่สิ่งที่นางอมรัตน์โพสต์ข้อมูลส่วนตัวของดิฉันต่างหาก ที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ และ หมิ่นประมาทดิฉันด้วยการโฆษณา สร้างความเสียหาย และ ความไม่ปลอดภัยในชีวิต รวมถึงครอบครัวของดิฉัน เพราะไม่รู้ว่าใครจะบุกมาทำร้ายคนในครอบครัวของดิฉันเมื่อไร จากคอมเมนต์ที่คลุ้มคลั่ง ชักชวนกันมารุมทำร้าย บางคนบอกบ้านดิฉันอยู่ใกล้บ้านตนเอง เขาสะดวกจะมาจัดการให้เป็นต้น ดิฉันคือผู้เสียหายจากการกระทำของนางอมรัตน์ มีความเสี่ยงสูงถึงชีวิต ไม่ใช่นางอมรัตน์เสียหายจากการกระทำของดิฉัน แต่ทั้งนี้ดิฉันได้แจ้งผู้บริหารไปว่าดิฉันจะไม่แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษนาง เพื่อไม่ให้กระทบต่อบริษัทและนายจ้าง โดยมีเงื่อนไขว่า นางอมรัตน์ต้องยุติการคุกคามดิฉันด้วย
แต่ปรากฎว่านางอมรัตน์กลับไม่หยุด ยังโพสต์และทวีตเผยแพร่ข้อมูลดิฉันอีก 4 ครั้ง ครั้งแรกอ้างว่าผู้บริหารและผู้จัดการฝ่ายบุคคลจะทำทัณฑ์บนดิฉัน 1 ปี ครั้งที่สองแจ้งแก้ไขข้อความเพราะบริษัทรับปากนางว่าจะจัดการดิฉันให้แล้ว ครั้งที่ 3 ทวีตภาพบัตรผ่านเข้าบริษัทขอพบผู้บริหารพร้อมระบุว่าได้มาพบและขอบคุณผู้บริหาร โดยบริษัทจะออกหนังสือเตือนดิฉัน และ ผู้บริหารยังรับปากว่าจะสอดส่องพฤติกรรมดิฉันให้ด้วย ครั้งที่ 4 ทวีตว่าหลังออกจากบริษัทดิฉันแล้ว นางได้มาเยี่ยมบ้านดิฉันด้วย พร้อมลงภาพที่พักของดิฉันประกอบ ทำให้เกิดการแชร์โพสต์และทวีตของนางต่อ โดยมีผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวนมากเข้ามาแสดงความเยาะเย้ยดูหมิ่นเหยียดหยามและแสดงความอาฆาตมาดร้ายดิฉันอีกมากมาย เหตุเพราะนางอมรัตน์เป็นนักการเมืองพรรคก้าวไกลที่มีชื่อเสียง มีคนติดตามหลักล้านคน
ดิฉันจึงจำเป็นต้องเรียนมาเพื่อขอความเป็นธรรม และ ขอคืนความรู้สึกปลอดภัยให้ครอบครัวดิฉันจากทุกท่าน
ดิฉันเชื่อโดยสุจริตใจว่า ประชาชนมีสิทธิวิพากษ์ วิจารณ์การเมือง และ นักการเมืองซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะ ที่กินภาษีของประชาชน โดยใช้สิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญอนุญาต
หากนักการเมืองใดเดือดร้อน หรือ เสียหายจากการโพสต์ของประชาชน นักการเมืองมีสิทธิใช้กฎหมายคุ้มครองตัวเองได้ ไม่ใช่ใช้ศาลเตี้ยจัดการ
เช่นเดียวกัน หากประชาชนรู้สึกว่าการกระทำของนักการเมือง ข้าราชการการเมือง ที่กินภาษีของประชาชน เป็นการละเมิดสิทธิ คุกคาม หรือ ชี้เป้าให้ตกเป็นอันตรายต่อชีวิต ทรัพย์สิน และ ครอบครัว ประชาชนย่อมควรได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายไม่ต่างกัน
ดิฉันยังเชื่อว่า จริยธรรมของนักการเมือง และ ข้าราชการการเมืองจำเป็นต้องมี การใช้อำนาจหน้าที่ของข้าราชการการเมืองข่มขู่เอกชน บีบบังคับเอกชนให้ดำเนินการใด ๆ ต่อพนักงานของตน เพื่อสนองความต้องการของข้าราชการการเมือง เป็นภัยคุกคามต่อชีวิตและเสถียรภาพของประชาชน เช่นที่ดิฉันถูกกระทำจากนางอมรัตน์ซึ่งเป็นข้าราชการการเมือง ควรถูกพิจารณาสอบสวนจริยธรรมจากหน่วยงานที่สังกัด
ดิฉันยังเชื่อว่าประชาชนของประเทศไทย ควรต้องได้รับความคุ้มครองสวัสดิภาพ ต้องไม่ตกอยู่ในอันตรายจากการไล่ล่าแม่มดจากนักการเมือง จากข้าราชการการเมือง และ/หรือ จากประชาชนด้วยกัน
โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เรียกร้องยกเลิก/แก้ไข ม.112 โดยอ้างว่าเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีฟรีสปีช วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย พรรคก้าวไกลอ้างเสรีภาพในการพูดและการแสดงความคิดเห็น ชักชวนให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการเมือง ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพรรคก้าวไกลจะพิจารณาพฤติกรรมไล่ล่าแม่มดของนางอมรัตน์สมาชิกพรรคของตนอย่างจริงจัง
ดิฉันขอวิงวอนต่อทุกท่าน ได้โปรดยุติการคุกคามของนางอมรัตน์ที่มีต่อดิฉัน ได้โปรดคุ้มครองความปลอดภัยให้ดิฉันและคืนความยุติธรรมให้ดิฉันและครอบครัวด้วย
ด้วยความเคารพอย่างสูง
ปีใหม่ ศิริกุล
19 กันยายน 2566
ด้านนางอมรัตน์ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับผู้ใช้งานเฟซบุ๊กรายหนึ่ง โดยอ้างว่าได้กล่าวพาดพิงถึงตัวเธอ และได้เดินทางไปพูดคุยด้วยถึงที่บริษัทที่ทำงาน แต่ไม่พบเจอตัวเนื่องจากเจ้าตัวออกไปหาลูกค้าข้างนอก โดยนางอมรัตน์ระบุว่า ไปเยี่ยมที่โรงงานมา ไม่เจอตัวเพราะออกไปหาลูกค้าข้างนอก มีโอกาสพบพูดคุยกับกรรมการบริหารท่านหนึ่ง กับ ผจก.ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ขอขอบคุณทั้งสองท่านอย่างสูง ที่ใส่ใจและรับปากว่าหลังบริษัทออกหนังสือเตือนให้เซ็นรับทราบแล้ว จะช่วยดูแลสอดส่องพฤติกรรมด้วย
ทั้งยังเผยอีกว่า ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ดังกล่าว ยินยอมจะเซ็นรับทราบหนังสือตักเตือนจากนายจ้าง ทัณฑ์บน 1 ปี อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างถึงความเหมาะสม ไปจนถึงสิทธิ เสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ว่าแบบนี้เข้าข่ายการข่มขู่หรือไม่
อย่างไรก็ดี ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 กันยายน นางอมรัตน์ ได้เผยแพร่ข้อความผ่านแพลตฟอร์ม X หรือ ทวิตเตอร์ ระบุถึงประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่า
เช้านี้ถึงแม้จะตื่นขึ้นมาด้วยความสดชื่น แต่ดิฉันมีความรู้สึกผิดติดค้างคิดว่าสมควรต้องออกมาขออภัยอย่างจริงใจต่อ toxic ในสังคมออนไลน์ที่ตัวเองมีส่วนสร้างขึ้นเมื่อวานนี้
ดิฉันยืนยันว่าได้ใช้วิจารณญาณและสัญชาติญาณในฐานะมนุษย์ ใช้พื้นฐานประสบการณ์และข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินว่าสิ่งไหนคือ ภัยสังคม ภัยสังคมย่อมหมายถึงตัวเองไม่ได้เป็นผู้รับ ผลกระทบแต่เพียงลำพัง แต่เป็นภัยที่ชาวโลกออนไลน์ประสบร่วมกัน
การกระทำตามวิจารณญาณส่วนตัวนั้นจะผิดถูกดีเลวอย่างไร ดิฉันยินดีรับผิดชอบทั้งทางสังคมและทางกม.ทุกประการ ดิฉันก็จะพิทักษ์สิทธิ์ตัวเองตามกม.ต่อไป เช่นเดียวกัน
จากนี้ต้อง move on เพื่อไม่เพิ่ม toxic ให้สังคมออนไลน์อีกต่อไป ที่เกิดไปแล้วต้องขออภัยซ้ำอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี ในทางส่วนตัวดิฉันรู้สึกเป็นการตัดสินใจที่คุ้มค่า ทุกการตัดสินใจมีต้นทุนมีราคาที่ต้องจ่ายอยู่แล้วอันนี้ทราบดีอยู่
อนึ่ง ขอยืนยันว่าในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่ 3 นั้นเป็นไปอย่างสุภาพมีเหตุผล ไม่มีสิ่งใดเลยที่ใกล้เคียงกับคำว่าข่มขู่คุกคามตามที่พยายามมี “กระแสปั่น”
ดิฉันเป็นไม่ใช่ผู้มีอิทธิพล ไม่มีศักยภาพข่มขู่บังคับใครแน่นอนหากบุคคลที่ 3 ที่เกี่ยวข้องมิได้เห็นพ้องด้วย
ต่อมา นางอมรัตน์ยังได้ชี้แจงเพิ่มเติมต่อข้อคำถามที่ว่า ไม่คุกคามยังไง? ไว้ว่า น่าจะเป็นโพสต์สุดท้ายสำหรับเรื่องนี้แล้ว ดิฉันเดินทางไปคนเดียว ใช้บัตร ปชช.แลกบัตรเข้าถูกต้อง ได้รับอนุญาตและได้รับการต้อนรับที่ดี ได้รับฟังผลการสอบสวนพนักงานบริษัทแล้วรู้สึกพอใจ ลากลับอย่างสุภาพ ขอบคุณทุกกำลังใจ