เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม สถานการณ์แม่น้ำวัง ที่เอ่อล้นตลิ่งท่วมพื้นที่ และบ้านเรือนราษฎรในพื้นที่ 3 อำเภอของ จ.ลำปาง ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายลงในพื้นที่ ต.นาแก้ว และ ต.นาแส่ง อ.เกาะคา หลังจากมวลน้ำก้อนใหญ่ จากน้ำป่าที่ทะลักลงมาสมทบในแม่น้ำวังเริ่มลดลง จึงทำให้แม่น้ำวังที่ไหลล้นทะลักท่วมหลายหมู่บ้านของ อ.เกาะคา นานถึง 2 วัน สถานการณ์ล่าสุดวันนี้ (2 ตุลาคม 2566) ระดับน้ำลดลง และคลี่คลายกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า แต่มวลน้ำก้อนใหญ่จากพื้นที่ อ.เกาะคา ได้ไหลต่อ และไปสร้างผลกระทบในพื้นที่ อ.เถิน และ อ.แม่พริก จ.ลำปาง ซึ่งเป็นพื้นที่อำเภอตอนใต้สุดของจังหวัด ติดกับ จ.ตาก โดยน้ำป่าที่มาตามลำห้วยสายต่างๆ
ที่ไหลลงแม่น้ำวังไม่ได้ ประกอบกับแม่น้ำวังที่อยู่ในระดับที่สูง จึงทำให้หนุนสูงล้นทะลักท่วมพื้นที่ลุ่ม และตามบ้านเรือนในพื้นที่ อ.เถิน จ.ลำปาง เข้าสู่วันที่ 3 แล้ว สร้างความเดือดร้อนอย่างหนักในพื้นที่ ต.เถินบุรี ต.แม่ถอด และ ต.ล้อมแรด บ้านเรือนประสบภัยไปกว่า 500 หลัง โดยในครั้งนี้ ชาวบ้านบอกว่า ฝนตกหนักมาก และเป็นสถานการณ์ที่กระแสน้ำมาเร็วท่วมบ้านเรือนในที่ลุ่มเป็นบริเวณกว้าง หนักสุดในรอบ 13 ปี ซึ่งครั้งหนักๆ เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2554 กระทั่งมาเจอหนักๆ อีกครั้งในปี 2566 นี้
โดยน้ำวังที่ไหลมามาก ประชาชนก็ได้เห็นสภาพ สะพานเมืองเถิน 100 ปี ซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำวัง เขตตัวอำเภอ พื้นที่ ต.ล้อมแรด อ.เถิน น้ำวังขึ้นไหลท่วมถึงหัวสะพาน และช่วงก่อนถึงกลางสะพาน ผู้คนและรถไม่สามารถข้ามผ่านไปมาได้ เนื่องจากมีความลึกกว่า 1 เมตร และไหลเชี่ยว
มวลน้ำก้อนใหญ่นี้ ยังกระทบต่อพื้นที่ 4 ตำบล 30 หมู่บ้านของ อ.แม่พริก จ.ลำปาง อย่างหนักและต่อเนื่องหลายวัน ซึ่งประสบภัยต่อเนื่องเข้าสู่วันที่ 3 เช่นกัน ชาวบ้านเดือดร้อนไปนับพันหลังคาเรือน ซึ่งขณะนี้สถานการณ์น้ำวังในพื้นที่ อ.แม่พริก อย่างในหมู่บ้านวังสำราญ และบ้านแม่เชียงรายลุ่ม ต.แม่พริก ซึ่งเป็นหมู่บ้านสุดท้ายของ จ.ลำปาง ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงที่หมู่บ้านต้นธง ต.แม่ปุ อ.แม่พริก ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มมาก ก็ยังถูกท่วมนานหลายวันเช่นกัน
ทั้งนี้ หากไม่มีน้ำเหนือไหลลงมาเติม และฝนในพื้นที่ไม่ตกลงมาซ้ำ ก็จะทำให้สถานการณ์ในแม่น้ำวังดีขึ้น และคลี่คลายกลับเข้าสู่ภาวะปกติใน 2-3 วัน จังหวัดลำปางได้สรุปสถานการณ์ พื้นที่ จ.ลำปาง ในห้วงประสบภัย ระหว่างวันที่ 27 กันยายน-2 ตุลาคม 2566
ทั้งภัยฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในหลายพื้นที่ ตลอดจนสถานการณ์แม่น้ำวังล้นตลิ่ง ซึ่งในห้วงดังกล่าวมีบ้านเรือน จำนวน 4,915 หลัง ได้รับผลกระทบ กระจายใน 257 หมู่บ้าน 38 ตำบล 8 อำเภอของ จ.ลำปาง
เบื้องต้นมีพื้นที่การเกษตร อย่างนาข้าว ได้รับความเสียหาย 2,034 ไร่, สวน 1,068 ไร่, พืชไร่ มันสำปะหลัง และข้าวโพด 657 ไร่ สิ่งสาธารณประโยชน์ได้รับความเสียหาย เป็นถนน 22 แห่ง, สะพานและคอสะพาน 8 แห่ง, ฝาย 15 แห่ง ซึ่งคาดว่า น่าจะมีสิ่งสาธารณประโยชน์ ได้รับผลกระทบมากกว่านี้ เนื่องจากการสำรวจยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งจะมีการตรวจสอบพื้นที่อย่างละเอียดต่อไป เพราะบางพื้นที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง และบางแห่งก็ยังประสบภัย