เมื่อวานนี้มีการประชุมคณะอนุกรรมการโครงการ Digital Wallet ซึ่งในที่ประชุมมีการพิจารณาข้อเสนอที่หลากหลาย โดยเฉพาะการถูกวิจารณ์ จึงได้มีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ใหม่ เพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อได้
โดยมีรายงานว่า หลักเกณฑ์ที่มีการเปลี่ยนแปลง มีหลายอย่าง สำหรับหลักเกณฑ์เดิมที่กำหนดไว้มีวงเงิน 560,000 ล้านบาท อาจมีการลดวงเงินรวมเหลือ 400,000 ล้านบาท จากเดิมที่จะแจก 10,000 บาท ในครั้งเดียว เปลี่ยนเป็นทยอยแจก 10,000 บาท ให้กับผู้มีรายได้น้อยหรือผู้ควรได้รับการช่วยเหลือ คาดว่าจะเหลือ 40 ล้านคน จากเดิมที่จะแจก ให้ผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน รวม 56 ล้านคน และจะแจกผ่านช่องทางแอปฯ เป๋าตังค์ แทน ผ่านช่องทาง Blockchain โดยผู้ได้รับเงินดิจิทัล จะสามารถใช้เงินได้ในรัศมีเกิน 4 กิโลเมตร จากเดิมที่กำหนดไว้แค่ภายใน พื้นที่ 4 กิโลเมตรเท่านั้น
อย่างไรก็ตามคณะอนุกรรมการฯ ยังต้องประชุมอีกหลายครั้ง โดยต้องสรุปรายละเอียดภายในเดือน ต.ค.นี้ รวมทั้งแหล่งที่มาของเงินในการทำโครงการดิจิทัล วอลเล็ตด้วย เพื่อจะเริ่มแจกในไตรมาส 1 ปีหน้า
ทางด้านเอกชน เชื่อว่าโครงการดิจิทัล วอลเล็ต จะมีผลช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปีหน้าได้ แต่โจทย์ใหญ่ของรัฐบาล คือ จะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจโตต่อเนื่องได้จากนโยบายนี้
นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคทีซี หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล เป็นนโยบายที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีคือเชื่อว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่ข้อเสียคือต้องระวังเรื่องทุจริต และยังต้องดูว่านโยบายนี้จะสร้างโมเมนตั้มให้เกิดการโตต่อเนื่องได้มากน้อยแค่ไหน ถือเป็นโจทย์ที่ภาครัฐต้องกับไปคิดต่อ
ส่วนที่นโยบายนี้มีทั้งคนคัดค้านและสนับสนุน นายระเฑียร มองว่า ทุกอย่างต้องระมัดระวังและควบคุม รัฐบาลทำถูกที่ฟังเสียงทุกคนแล้วบอกว่าจะนำมาปรับปรุง เพราะไม่มีทางที่คนจะคิดเหมือนกันหมด ผู้นำที่ดีคือคนที่สามารถอธิบายประชาชนได้ว่าทำไมต้องทำ และรับฟังคนที่เห็นต่าง ซึ่งถ้าเลือกเขาแล้วก็ต้องให้โอกาสเขาทำงานก่อน
ส่วนอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะกระทบกำลังซื้อประชาชนหรือไม่ นายระเฑียร มองว่า กระทบกำลังซื้อของคนมีรายได้น้อยที่ยังต้องรอเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ แต่คนชั้นกลางทั่วไปยังมีกำลังซื้อค่อนข้างมาก โดยคาดว่าการใช้จ่ายช่วงปลายปีนี้ จะเติบโตเกิน 10%