อธิบดีราชทัณฑ์-แพทย์ใหญ่ เตรียมหารือ “นอนต่อ” หรือส่ง “ทักษิณ”กลับเรือนจำฯ

Author:

จากกรณีที่นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ตั้งคำถามผ่านทางบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุเนื้อหาสาระเกี่ยวกับ ระยะเวลาการรักษาตัวนอกเรือนจำของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตามกฎกระทรวงยุติธรรม เรื่อง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ซึ่งลงนามโดยคุณสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในขณะนั้น พร้อมระบุว่า หากมีการรักษาตัวนอกเรือนจำนานกว่า 30 วัน จะต้องมีความเห็นจากทางอธิบดีกรมราชทัณฑ์และแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ หากนานกว่า 60 วัน จะต้องมีความเห็นจากทางปลัดกระทรวงยุติธรรม และหากนานเกิน 120 วัน จะต้องมีความเห็นจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมทั้งขอให้มีการแถลงรายละเอียดต่อสาธารณชน เพื่อคลายข้อสงสัยว่าได้มีการเลือกปฏิบัติต่อนายทักษิณ หรือไม่นั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 5 ก.ย. “ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์” ได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวระดับสูง ว่า สำหรับอาการเจ็บป่วยของผู้ต้องขังตลอดห้วงระยะเวลาการนอนพักรักษาตัว จะมีความทุเลาดีขึ้นหรืออาการทรงตัวอย่างไร จะเป็นดุลพินิจของนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ที่จะต้องรายงานแจ้งมายังอธิบดีกรมราชทัณฑ์เพื่ออธิบดีมีความคิดเห็น พิจารณาอนุมัติว่าจะให้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจต่อเนื่อง หรือพิจารณาอนุมัติให้ย้ายกลับมารักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ณ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ดังนั้น ในกรณีที่นายทักษิณ จะมีการรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจนานกว่า 30 วันนั้น ทางแพทย์ที่เป็นผู้รักษาจะต้องรายงานอาการความเจ็บป่วยและความคิดเห็นของแพทย์ไปยังอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เพื่อพิจารณาอนุมัติตามขั้นตอน และถ้าหากจะมีการรักษานานกว่า 60 วัน ก็จะต้องมีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และรายงานปลัดกระทรวงยุติธรรมรับทราบ ส่วนถ้าจะมีการรักษานานกว่า 120 วัน ก็จะต้องมีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และรายงานรัฐมนตรีทราบ

แหล่งข่าวระบุอีกว่า เมื่อใกล้ครบกำหนดระยะเวลาการนอนพักรักษาตัว 30 วัน ตามหลักการแล้ว ทางอธิบดีกรมราชทัณฑ์ หรือตัวแทนราชทัณฑ์ จะต้องมีการประชุมหารือร่วมกับทีมแพทย์ รพ.ตำรวจ ผู้ทำการรักษา เพื่อมีความเห็นร่วมกันว่า จะอนุมัติให้ยังคงรักษาตัวที่เดิมหรือไม่ อย่างไร และเมื่อถามว่าหากต้องมีการรักษานานเกินกว่า 30 วัน มีแนวโน้มที่นายทักษิณ จะย้ายไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งจะมีเครื่องมือทางการแพทย์และแพทย์เฉพาะทางเหมาะสมต่อการรักษาหรือไม่นั้น แหล่งข่าวเผยว่า หากโรงพยาบาลที่ได้ลงนาม MOU กับราชทัณฑ์ (หรือ รพ.แม่ข่าย) ยังคงมีศักยภาพในการรักษา ก็ยังจะต้องเป็นโรงพยาบาลของรัฐต่อไป แต่ถ้าหากโรงพยาบาลของรัฐที่ลงนามอยู่นั้น ไม่มีเครื่องมือพร้อมในส่วนอื่นใด ก็อาจจะมีความจำเป็นต้องพิจารณาย้ายไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนแทนได้ แต่เท่าที่ตนรับทราบ ยังไม่มีแนวโน้มย้ายนายทักษิณ ไปรักษาตัวที่โรงบาลแห่งอื่น

แหล่งข่าวระบุถึงโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษเนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ว่า ปกติแล้วในเวลา 1 ปี ทางราชทัณฑ์จะมีโครงการอยู่แล้ว ซึ่งเรือนจำจะมีการสำรวจรายชื่อของผู้ต้องขัง แล้วก็มีการจัดทำบัญชีรายชื่อ เพื่อแจ้งผู้ต้องขัง หากเข้าเกณฑ์ก็ให้ดำเนินการยื่นเอกสารมาทางเรือนจำฯ และที่สำคัญจะต้องมีการรับรองเนื้อหาเอกสารการเจ็บป่วยด้วย อย่างไรก็ตาม ตามเกณฑ์จะต้องมีการรับโทษจำคุกแล้วหนึ่งในสาม หรือไม่น้อยกว่า 6 เดือน แต่ในกรณีของนายทักษิณนั้น เข้ามารับโทษจำคุกเพียง 1 ปี หากคำนวณหนึ่งในสามก็เท่ากับ 4 เดือน ซึ่งนายทักษิณก็จะต้องรับโทษจำคุกไม่น้อยกว่า 6 เดือนก่อน จึงจะเข้าเกณฑ์ยื่นขอเข้าโครงการพักการลงโทษได้ แต่ถ้าหากมีการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปในวาระโอกาสสำคัญ ก็จะเป็นอีกกรณีหนึ่ง…. สามารถ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *